- Details
- Written by Super User
- Category: พระประวัติ
- Hits: 2576
กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงนำนักเรียนไปฝึกภาคต่างประเทศครั้งแรก
ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ เสด็จในกรมฯ ได้ทรงนำนักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายช่างกล ประมาณ ๑๐๐ คน ไปอวดธงที่ สิงคโปร์ ปัตตาเวีย ชวา และเกาะบัลลิทัน โดยเรือมกุฎราชกุมาร (ลำที่ ๑) ในการเดินทางไปต่างประเทศครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของทหารเรือไทย เสด็จในกรมฯ ทรงเป็นผู้บังคับเรือและทรงบัญชาการฝึกนักเรียนนายเรือด้วยพระองค์เอง โดยไม่มีชาวต่างประเทศปนไปด้วยเลย ให้นักเรียนทำการฝึกหัดปฏิบัติการในเรือทุกอย่าง เพื่อให้มีความอดทนต่อการใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและรู้จักชีวิตของการเป็นทหารเรืออย่างแท้จริง เรื่องอาหารการกินในเรือ ให้กินขนมปังอย่างในเรือรบอังกฤษ ใช้ขนมปังนั้นพอไว้หลายวันเข้าจะแข็งยิ่งกว่าเหล็กจนกัดไม่เข้า เสด็จในกรมฯ ทรงเห็นว่าขนมปังกินสะดวกเพราะเก็บไว้ไ้ด้นานๆ ไม่เหมือนข้าวที่ต้องหุงกันทุกวัน เวลาเดินเรือคลื่นมากจะลำบากแก่การหุงหา
มีคราวหนึ่งไปฝึกทางทะเล นาวาเอก หม่อมเจ้าพรปรีชา กมลาศน์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของเสด็จในกรมฯ ขณะนั้นยังทรงเป็นทหารเรือใหม่ ในเรือตั้งกฎให้กินไข่ได้คนละ ๒ ฟอง ปรากฎว่า ท่านพรปรีชาเสวยไป ๑๐ ฟอง เสด็จในกรมฯ กริ้ว รับสั่งว่า นิสัยอย่างนี้เป็นทหารเรือไม่ได้ ทหารเรือต้องไม่ขี้ขโมย บังคับให้กระโดดทะเล ถ้าไม่กระโดดจะยิงเอา หม่อมเจ้าพรปรีชาไปนั่งรออยู่ปลายขั้นบันไดเรือ เสด็จพ่อถือปืนคุมอยู่ข้างบนหัวกระได กั้นไม่ให้ขึ้น ให้หม่อมเจ้าพรปรีชากระโดดลงทะเล ขณะนั้นเห็นเสากระโดงปลาฉลามอยู่ไกล รับสั่งว่า "แกต้องลงเดี๋ยวนี้ จะให้ฉลามมาใกล้แล้วลงก็ได้ แต่เนื้อแกจะไปไหนฉันไม่รู้" ถึงอย่างไรก็ต้องลง ถ้าไม่ลงก็โดนยิง ท่านพรปรีชาจำต้องโดดลงไปว่ายน้ำในทะเล เมื่อฉลามใกล้เข้ามา ท่านรับสั่งให้เฉยไว้ยังไม่ให้ขึ้น เมื่อฉลามใกล้เข้ามาอีกจึงรับสั่งให้ขึ้นเรือได้ ท่านพรปรีชากลัวจนตัวสั่นไปหมด เสด็จในกรมฯ ว่า แกไม่ดื้อฉันถึงให้ขึ้น ในตอนหลังทรงรับสั่งว่า ฉันไม่บ้าที่จะยิงแกหรอก แต่จะยิงฉลามเมื่อเข้าใกล้ เมื่อฉลามได้กลิ่นเลือดแล้วก็จะไปทางนั้น แกจะได้ไม่เป็นอันตราย ในการฝึกทหารเรือนั้น พระองค์นอกจากฝึกสอนการเดินเรือแล้ว ยังทรงสอนการซ่อมแซมเรือด้วย โดยในเวลาน้ำขึ้นให้นำเรือขึ้นไปให้ใกล้ฝั่งที่สุด เมื่อน้ำลง เรือค้างที่แห้งก็ให้รีบซ่อมให้เสร็จ แล้วจึงนำเรือออกอีก นอกจากนั้นยังทรงจัดให้มีการฝึกยกพลขึ้นบกแล้วเดินทางไกล อันเป็นกิจกรรมที่ทหารเรือต้องปฏิบัติอยู่เสมอ เพื่อปราบปรามการจลาจล หรืออั้งยี่ตามจังหวัดชายทะเลซึ่งชุกชุมในเวลานั้น |
- Details
- Written by Super User
- Category: พระประวัติ
- Hits: 10126
กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงปรับปรุงการศึกษาของทหารเรือ
ในสมัยนั้นการศึกษาของนักเรียนนายเรือยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ทรงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องรีบจัดการศึกษาของโรงเรียนนายเรือให้เจริญขึ้น ทรงหารือกับเสด็จในกรมฯ และกราบบังคมทูลขอจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนนายเรือ มีเสด็จในกรมฯเป็นประธานกรรมการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ทรงทำการในตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ในช่วงต้นของการสอน เสด็จในกรมฯ มีนักเรียนอายุแตกต่างกันมากบางคนอายุ ๓๐ ปี บางคนอายุยังน้อยแต่หัวดีแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พลเรือโทพระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) พระยาหาญกลางสมุทร (บุญม พันธุมนาวิน) พระยากาจกำแหง (ห้อง หังสนาวิน) ฯลฯ พระองค์ทรงใช้ระเบียบการปกครองและบังคับบัญชาตามอย่างการปกครองในเรือรบ แบ่งเป็นตอนให้นักเรียนชั้นสูงบังคับบัญชาชั้นรองลงมา ซึ่งเป็นการฝึกหัดการปกครองไปในตัว ด้านการศึกษาได้จัดเพิ่มวิชาสำคัญสำหรับชาวเรือ ทรงเล็งการณ์ไกลว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาจะสามารถเดินเรือไกลในทะเลน้ำลึกได้ ทั้งนี้ได้เพิ่มวิชาดาราศาสตร์ ตรีโกณมิติ การเดินเรือ อุทกศาสตร์ เรขาคณิต พีชคณิต ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพิ่มชั้นศึกษาจาก ๔ ชั้นเป็น ๕ ชั้น ในสมัยนั้นหานักเรียนมาสมัครยาก ถึงกับต้องจ้างให้มาเรียนกัน ชั้นเล็กให้ ๓ บาท สูงขึ้นมาหน่อยเป็น ๖ บาท - ๑๐ บาท - ๒๐ บาทตามลำดับ ชั้น ๕ ให้พิเศษโดยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ต่อมามีผู้นิยมมากแล้วจึงเลิกจ้าง ระยะนั้นเสด็จในกรมฯ ทรงเป็นครูสอนวิชาดาราศาสตร์ การเดินเรือ แผนที่ ตรีโกณมิติเส้นโค้ง พีชคณิตตอนกลาง และตอนปลาย ต่อมาเสด็จในกรมฯ ทรงจัดตั้ง โรงเรียนช่างกล ขึ้นอย่างรวดเร็ว |
- Details
- Written by Super User
- Category: พระประวัติ
- Hits: 9582
พิธีขึ้นตำหนักใหม่
พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
"ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๓ วันที่ ๒๔ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕ หน้า ๑๓๑๕-๑๓๑๖" ด้วยการก่อสร้างตำหนักที่วังพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์นั้น ช่างได้กระทำการก่อสร้างสำเร็จบริบูรณ์แล้ว สมควรจะกระทำการมงคลการขึ้นตำหนัก ในเดือนนี้ได้ จึงโปรดให้โหรหาฤกษ์มีกำหนดในวันที่ ๒๐ มีนาคมเปนกำหนดพระฤกษ์การขึ้นตำหนักใหม่ และ โปรดให้จัดการตกแต่งในวังล้วนไปด้วยใบไม้ธงช้างและโคมไฟ ดูสว่างไสวไปทั้งจังหวัดวัง ทั้งที่บนตำหนักเจ้าพนักงานก็ได้ตั้งพระแท่นมณฑลพร้อมด้วยเครื่องนมัสการ ประดิษฐานพระไชยวัฒน์ ประจำรัชการปัตยุบันนี้และพระเต้าน้ำพระพุทธมนต์ ในห้องบรรธมก็ได้ตั้งเครื่องนมัสการประดิษฐานพระไชยวัฒน์เนาวโลหองค์เล็กและ ทองคำองค์เล็ก ซึ่งพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้รับพระราชทานกับทั้งพระอื่นด้วย ในวันที่ ๒๐ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ นั้น พระสงฆ์ซึ่งดำรงสมณะศักดิ์ ที่เจริญพระพุทธมนต์ฝ่ายไทยสวดที่ห้องมณฑล ๑๐ รูป มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส เปนประธาน ฝ่ายรามัญสวดที่ห้องบรรธม ๕ รูป มีพระสุเมธาจารย์ เปนประธาน ได้มาพร้อมแล้วเวลาค่ำได้ขึ้นไปพร้อมที่ห้องมณฑล พรเจ้าลูกยาเธอเจ้า ของงานได้ทรงประเคนไตรย่ามและพัดรอง ปักด้วยดิ้นเป็นรัศมี มีอักษรย่อ พระนาม ที่ใจกลางแห่งรัศมี พระสงฆ์ออกไปครองไตรเสร็จกลับไปนั่งตามที่พระเจ้าลูกยาเธอทรงจุดเทียนทรงศีล แล้วเสร็จไปทรงจุดเทียนที่ห้องบรรธม พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์สัตปริตจบแล้วกลับ ก่อนหน้าเวลาเสด็จพระราชดำเนิน มีพระบรมวงษานุวงษ์ข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ได้เสด็จและไปช่วยในงานนี้เป็นอันมาก คือฝ่ายในมีสมเด็จพระบรมราชินีนารถ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี เปนต้น ฝ่ายหน้ามีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ทั้ง ๒ พระองค์ เปนต้น พระเจ้าลูกยาเธอได้ถวายมีดพับ สำหรับเหลาดินสอมีอักษรจารึก และทรงแจกแก่พระบรมวงษานุวงษ์ข้าราชการ ทั้งบรรดาที่ได้ไปในงานนี้เปนอันมาก ครั้นเวลาจวน ๕ ทุ่ม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องทหารเรือ เสด็จพระราชดำเนินแต่วังสวนดุสิต ไปประทับที่วังพระเจ้าลูกยาเธอ ได้ทรงผลัดผ้าทรง เสด็จประทับพระแท่นสรงๆ น้ำพระพุทธมนต์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ พระราชทานแก่พระเจ้าลูกยาเธอ และหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธุ์ ในพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ พราหมณ์เป่าสังข์ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ ฆ้องไชยพิพัฒน์ แล้วพาหมณ์ได้ถวายน้ำสังข์อีกครั้ง แก่พระเจ้าลูกยาเธอ ทรงผลัดผ้าทรง เสด็จขึ้นบนตำหนัก ครั้งถึงเวลา ๕ ทุ่ม ๔ นาที ๓๒ วินาที เปนปฐมฤกษ์ พระเจ้าลูกยาเธอ เสด็จขึ้นพระแท่นบรรธม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ และทรงเจิมพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอและหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธุ์ และ พระราชทานพระพร แล้วพระบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายในที่ยิ่งพระชนมายุกว่าทรงอำนวยพระพรต่อไป แล้วพระบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายหน้าทรงอำนวยพระพรอีกครั้งหนึ่งแล้ว พระเจ้าลูกยาเธอ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระรูปและทานพระกร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประทับโต๊ะเสวยแล้วเวลา ๒ ยามเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับ วันที่ ๒๑ มีนาคม เวลาเช้า ๔ โมงเศษ พระเจ้าลูกยาเธอ ได้ทรงปฏิบัติเลี้ยงพระสงฆ์และทรงแจกเงินแก่บรรดาที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในงานนี้แล้ว เปนเสร็จการ (หมายเหตุ : การสะกดคำยึดตามราชกิจจานุเบกษา แต่การแบ่งย่อหน้าปรับเพื่อความชัดเจนในการอ่าน) |
- Details
- Written by Super User
- Category: พระประวัติ
- Hits: 5128
พระโอรสและพระธิดาใน
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงมีพระโอรส ๓ พระองค์อันประสูติแก่หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์) พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงมีพระโอรสและพระธิดาอันเกิดแก่หม่อม ดังนี้ หม่อมกิม อาภากร ณ อยุธยา (บุตรีของนายสี-หลานพระพิพิธภัณฑ์วิจารณ์ (ฮกเซ่ง) และนางอิ่ม) หม่อมแฉล้ม อาภากร ณ อยุธยา (บุตรีนายเต็กสิ้น และ นางแฉ่ง ชาวสมุทรปราการ) หม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา (บุตรีนายสอน และ นางแต๋ ชาวเพชรบุรี) หม่อมช้อย อาภากร ณ อยุธยา (บุตรีหลวงอำนาจณรงค์ราญ (ปุย) นายทหารกรมทหารบก และ นางชื่น) หม่อมแจ่ม อาภากร ณ อยุธยา (เป็นน้องร่วมมารดาเดียวกับหม่อมเมี้ยน)
* มีเวบไซต์บางแห่งและหนังสือบางเล่ม เขียนระบุ ว่าพระโอรสที่เกิดแก่หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์มีเพียง ๒ พระองค์เท่านั้น แท้จริงแล้ว พระองค์มีพระโอรส เกิดแก่หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ๓ พระองค์ แม้ว่าจะประสูติและสิ้นชีพตักษัยในวันเดียวกันก็ตาม |